เมนู

ฉันนั้น ปัญญาที่เกิดในสันดานท่านโยคาวจรผู้ประเสริฐ เกิดขึ้นกระทำกิจและดับมิให้กลับเกิดใหม่
แต่กิจเห็นพระไตรลักษณ์ยังประจักษ์อยู่ ขอบพิตรจงรู้ในพระราชสันดานด้วยประการดังนี้
พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ทรงฟังก็โสมนัสในอุปมา จึงตรัสว่า กลฺโลสิ พระผู้เป็นเจ้า
วิสัชนามานี้สมควรแล้ว
ปัญญานิรุชฌนปัญหา คำรบ 3 จบเท่านี้

ปรินิพพานปัญหา ที 4


ราชา

สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการถามอรรถปัญหาอันอื่น
สืบไปเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า บุคคลที่ไม่ปฏิสนธิไม่เกิดใหม่ในภพ
เบื้องหน้านั้น จะได้เสวยทุกข์บ้างหรือว่าหามิได้
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐคนที่
ไม่ปฏิสนธิไม่เกิดอีกนั้นเสวยทุกข์บ้างไม่เสวยทุกข์บ้าง
พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงตรัสซักว่า อย่างไรไม่เสวยทุกข์ อย่างไรเสวยทุกข์
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ
ท่านที่ไม่เกิดอีกนั้น เสวยแต่กายิกทุกข์อันประกอบในกาย มิได้เสวยเจตสิกทุกข์ ขอถวายพระพร
พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากรถามว่า อย่างไรเรียกว่าทุกข์ประกอบในกาย อย่างไร
เรียกว่าทุกข์ประกอบในเจตสิก
พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ เหตุ
ปัจจัยอันแต่งกองทุกข์ในกายนั้นยังไม่ดับ ก็ยังมีทุกข์อยู่ และท่านที่เป็นขีณาสพนั้นเสวยทุกข-
เวทนาในกายนั้น เหตุว่ากายของท่านนั้นยังเป็นเชื้ออุปาทานตกแต่ง มีเหตุปัจจัยไปกว่าจะถึง
นิพพานในปัจฉิมชาตินั้น ท่านที่เป็นพระขีณาสพจึงเสวยทุกข์สำหรับกายให้อาพาธเจ็บไข้
และต้องบาดเสี้ยนหนามยอกนั้น ท่านก็ได้เสวยทุกข์อันเจ็บปวดในกาย ของถวายพระพร ที่ท่าน
ไม่เสวยทุกข์อันประกอบในเจตสิกนั้น คือเหตุปัจจัยที่แต่งจิตเจตสิกดับแล้ว ไม่มีโลโภ โทโส โมโห
กิเลสตัณหา กิเลสตัณหาหามิได้มี เหตุดังนั้นทุกข์ในจิตเจตสิกจึงไม่มี มีแต่ทุกข์อันประกอบใน
กาย ขอถวายพระพร